วิชาประวัติศาสตร์ไทย3

บทที่3 วิถีไทย

   วิถีไทย หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย วิถีไทย จึงเป็นแหล่งรวมความรู้เรื่องสังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญาของคนไทย การประพฤติ ปฏิบัติ การศึกษาอบรม และการสืบทอดวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


     ในปัจจุบันนี้ เราจะมองหาเด็กที่ไว้ผมจุกแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะโลกได้เจริญขึ้นและวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มีบทบาทในประเทศไทยแผ่คลุมทั่วไปหมด พิธีกรรมโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคนก็ค่อยๆ หายสูญไป เหลือแต่เพียงอยู่ในความทรงจำเท่านั้น และอีกประการหนึ่ง การไว้ผมจุกให้แก่บุตรหลานตามสมัยโบราณนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีพิธีรีตองมากมาย สู้เอาไว้ผมตามแบบธรรมดาดีกว่า และถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ไว้ยาวเสียเลยทีเดียว
     สมัยก่อน-เมื่อเด็กมีอายุจะเข้าเขตวัยหนุ่มสาว (ชายอายุย่างเข้า 13 ปี หญิง 11 ปี ตามคตินิยมของอินเดีย) จึงมีการพิธีเพื่อบอกกล่าวแก่ญาติมิตร เช่น(Coming of Age ของฝรั่ง) อีกครั้งหนึ่งซึ่งเรียกว่า "พิธีมงคลโกนจุก"
     "พิธีมงคลโกนจุก" นี้ โดยมากมักจะหาโอกาสทำรวมกับพิธีมงคล เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด ฯลฯ เพราะนับเป็นงานมงคลเช่นเดียวกัน โดยมีสวดมนต์เย็น 1 วัน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วก็ตัดจุกเด็กตามเวลาฤกษ์ ตอนบ่ายมีเวียนเทียนสมโภชทำขวัญเด็กตามพิธีพราหมณ์
     งานพิธีจะจัดใหญ่โตแค่ไหนนั้น แล้วแต่ฐานะของเจ้าของงานจะเห็นสมควร ดังได้กล่าวแล้ว งานพิธีโกนจุกนี้ ถ้าได้รวมกับพิธีมงคลอื่นๆ ก็จะเป็นการประหยัดรายจ่ายได้อีก

สิ่งที่ต้องเตรียมการ
     1. ให้โหรผูกดวงชะตาของเด็ก เพื่อสอบหาวันและฤกษ์งามยามดีให้ละเอียดและกำหนดวันงานให้แน่นอน พิธีนี้ควรทำงานเป็น 2 วัน คือเริ่มพิธีและสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันอาหารบิณฑบาตเช้าและตัดจุก
  การจัดเตรียมก็มีดังนี้
ก. จัดการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม และเหมาะสม เช่น มีผ้าหรือแพรเป็นระบาย ประดับทิวธงราชวัตรฉัตรชัย (สามัญชนใช้ฉัตร 3 ชั้น หรือจะไม่มีก็ได้) ประดับต้นกล้วย อ้อย ตลอดจนพันผ้าสีสลับกันรอบเสาโรงพิธีตั้งด้วยเบญจาอันประดับด้วยหยวกและฟักทองสลัก พร้อมทั้งใบและดอกไม้ของหอมให้สวยงาม
ข. จัดอาสนะ สำหรับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และจัดโต๊ะตั้งพระพุทธรูปพร้อมด้วยของบูชา ตลอดจนวงด้ายสายสิญจน์
ค. จัดโต๊ะหรือม้าสำหรับวางเครื่องมงคลพิธี
ง. เตรียมเครื่องใส่น้ำมนต์และเครื่องจุณเจิม
จ. เชิญโหรหรือพราหมณ์มาประกอบพิธี นอกจากสิ่งของเหล่านี้แล้ว ควรจัดเตรียม "เครื่องทวาทศมงคล" คือเครื่องที่เป็นมงคล 12 ประการไว้ดังนี้

     ไตรพิธีมงคล 3 คือ
1. พทฺธรตฺน มงคล ได้แก่ พระพุทธรูป (ดับทุกข์)
2. ธมฺมรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระพุทธมนต์ (ขจัดภัย)
3. สงฺฆรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระสงฆ์ (บำบัดโรค)
   ษับฏาพิธมงคล 8 คือ
1. สิริปตฺตมงฺคล ได้แก่ บายศรี แว่นเวียนเทียน (ศิริวัฒนะ)
2. กรณฺฑกุภมงฺคล ได้แก่ เต้าน้ำ หม้อน้ำ (โภควัฒนะ)
3. สงฺขมงฺคล ได้แก่ สังข์ (ฑีฆายุวัฒนะ)
4. โสวญฺณรชฏาทิมงฺคล ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง (สิเนหวัฒนะ)
5. วชิรจกฺกาวุธมงฺคล ได้แก่ จักรและเครื่องอาวุธ (อิทธิเตชะวัฒนะ)
6. วชิรคทามงฺคล ได้แก่ คธา "กระบองเพชร" (ภูติปีศาจ)
7. องฺกุสมงฺคล ได้แก่ ขอช้าง ตาข่ายช้าง (อุปทวันตรายนิวารนะ)
8. ฉัตฺตธชมงฺคล ได้แก่ ฉัตร ธงชัย (กิตติวัฒนะ)

     มุขวาทมงคล 1 คือ 
1. มุขวาทมงคล ได้แก่การเวียนเทียนทำขวัญให้ศีลให้พร (เป็นเครื่องประสิทธิ์ให้เจริญสวัสดิ์มงคลทุกประการ)

   2. พิธีตอนเย็น พอถึงวันสวดมนต์เย็น (วันแรกของงาน) ก็จัดการอาบน้ำแต่งตัวให้เด็ก เด็กสามัญมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ไปให้พราหมณ์ตัดจุก ในพิธีตรียัมพวายซึ่งมีประจำปีที่โบสถ์พราหมณ์ ส่วนผู้ที่มีกำลังจะทำพิธีได้ที่บ้านเรือนของตนเอง และแต่งตัวเด็กได้ตามความพอใจ ตั้งแต่ทำไรไว้ขอบรอบจุก และโกนผมล่างออกให้หมดจดเรียบร้อยแล้ว อาบน้ำทาขมิ้น เกล้าจุกปักปิ่นงามๆ และสวมมาลัยรอบจุก ผัดหน้าผัดตัวให้สะอาดขาวเหลืองเป็นนวลแล้วนุ่งผ้า ใส่เสื้อประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา มีใส่กำไลเท้า กำไลมือ สังวาลย์ จี้ ฯลฯ สุดแท้แต่กำลังของสติปัญญาจะสรรหามาได้

     เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จแล้ว ก็พาไปนั่งยังที่ทำพิธีมีโต๊ะตั้งตรงหน้า 1 ตัว สำหรับวางพานมงคล คือด้ายสายสิญจน์ที่ทำเป็นวงพอดีศรีษะเด็ก เมื่อผู้เป็นประธานในพิธีจุดเทียนหน้าพระรับศีล พระสวดมนต์แล้ว ก็ใส่มงคลนั้นให้แก่เด็กจนสวดมนต์จบแล้ว จึงปลดสายสิญจน์จากมงคลเด็กที่โยงไปสู่ที่บูชาพระนั้นออก แล้วพาเด็กกลับจากพิธีได้

     รุ่งเช้า จัดการแต่งตัวเด็กโดยให้นุ่งผ้าขาวห่มขาวใส่เกี้ยวนวมสร้อยสังวาลย์เต็มที่อย่างเมื่อตอนเย็น แต่ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้า พาไปนั่งยังพิธีมีพานล้างหน้า และพานรองเกี้ยววางไว้บนโต๊ะตรงหน้าแขวนมงคล ผู้ที่จะโกนผมจัดการถอดเกี้ยวออกใส่พาน แล้วแบ่งผมจุกเด็กออกเป็น 3 ปอย เอาสายสิญจน์ผูกปลายผมกับแหวนนพเก้า (ซึ่งแปลว่า สี่ดาวประจำนพเคราะห์) และใบมะตูมทั้ง 3 ปอย ครั้นถึงเวลาฤกษ์โหรก็ลั่นฆ้องชัย พระสวด "ชยันโตฯ" ประโคมพิณพาทย์มโหรี ผู้เป็นประธานในพิธีจึงตัดจุกเด็กปอย 1 แล้วผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัดปอยที่ 2 พ่อเด็กตัดปอยที่ 3 ผู้ตัดไม่จำกัดบุคคลว่าเป็นผู้ใดแล้วแต่เจ้าของงานจะเชิญเจาะจงด้วยความนับถือ เมื่อตัดผมเด็กทั้ง 3 ปอยให้สิ้นแล้ว ผู้โกนผมก็จะเข้าไปโกนให้เกลี้ยง แล้วจูงเด็กไปถอดสร้อยนวมที่จะเปียกน้ำไม่ได้ออก และนำเด็กไปนั่งยังเบญจาที่รดน้ำซึ่งตั้งไว้ในชานชาลาแห่งหนึ่งพร้อมด้วยพระพุทธมนต์ที่ใส่ในคนโฑแก้ว เงินทอง ตามที่มี ตั้งไว้บนม้าหมู่หนึ่ง ผู้ที่มาในงานนั้นก็เข้าไปรดน้ำพระพุทธมนต์นั้นให้แก่เด็ก ตามยศและอาวุโส เมื่อเสร็จการรดน้ำแล้ว ก็พาเด็กขึ้นมาแต่งตัวใหม่และเลี้ยงพระสงฆ์ในเวลาที่เด็กแต่งตัวอยู่ ตอนนี้เด็กผู้ชายก็แต่งอย่างเด็กผู้ชายคือนุ่งผ้าใส่เสื้อ ส่วนผู้หญิงก็นุ่งจีบห่มสไบ แสดงให้เห็นว่าแยกเพศออกจากการเป็นเด็กแล้ว เมื่อแต่งตัวเต็มที่ใส่มงคลเรียบร้อยแล้ว ก็นำออกไปให้ถวายของพระที่ฉันแล้วด้วยตัวเด็กเอง เมื่อสวด "ยะถาสัพพี" ให้พรแล้วกลับ เด็กก็กลับมาพักถอดเครื่องแต่งตัวได้ จนถึงเวลาเย็นราว 16-17 น. ก็แต่งตัวเด็กชุดถวายของพระออกไปทำขวัญตามพิธีพราหมณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ไม่มีพระสงฆ์มีแต่พวกพราหมณ์และพิณพาทย์มโหรีสำหรับประโคมเวลาเวียนเทียนให้เด็กนั่งหลังโต๊ะบายศรี และพราหมณ์ก็ทำขวัญตามวิธี คือ ผูกมือจุณเจิมแป้งกระแจะน้ำมันจันทน์ ให้กินน้ำมะพร้าวแล้วเวียนเทียน 3 รอบ เป็นอันว่าเสร็จการทำขวัญ

 การละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงละคร ระบำ การเล่นของเด็ก




โขน การแสดงอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ท่ารำ และแสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับ วิธีการทุกอย่างเหมือนละคร แต่ไม่เรียกว่าละคร การแสดงที่จะกล่าวนี้เรียกว่า “โขน
     โขน เป็นการแสดงที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แต่เพิ่มท่ารำที่มีตัวแสดงแปลกออกไป กับเปลี่ยนทำนองเพลงที่ดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนละคร
     โขน มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขนหมดทุกตัว ยกเว้นตัวนาง พระ และเทวดา ในสมัยโบราณตัวพระและตัวเทวดาก็สวมหัว ภายหลังจึงเปลี่ยนแปลง ให้ตัวพระและตัวเทวดาไม่ต้องสวมหัว คงใช้หน้าของผู้แสดงเช่นเดียวกับละคร
     หัวโขน เป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศรีษะถึงคอ เจาะรูตรงตาให้มองเห็น สร้างตามลักษณะของตัวนั้น ๆ เช่น ยักษ์ ลิง เทวดา และอื่น ๆ ตบแต่งด้วยสี ปิดทอง ประดับกระจกสวยงาม บางท่านก็เรียกว่า “หน้าโขน





 เรื่องดำเนินไปด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่า “พากย์” อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง บทพากย์เป็นกาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง การพูดของตัวโขนไม่ว่าจะเป็นทำนองพากย์ ทำนองเจรจา หรือพูดอย่างสามัญชน มีผู้พูดแทนให้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวที่สวมหน้าหรือไม่สวมหน้า ผู้พูดแทนตัวโขนนี้เรียกว่า “คนเจรจา”
     เครื่องแต่งตัว เป็นแบบเดียวกับละครใน นอกจากบางตัวสวมหัวโขนตามเนื้อเรื่อง เสื้อของตัวพระและตัวยักษ์สมัยโบราณมักมี 2 สี คือเป็นเสื้อกั๊กสีหนึ่ง กับแขนสีหนึ่ง นัยว่าเสื้อกั๊กนั้นแทนเกราะ ส่วนลิง ตัวเสื้อและแขนลายวงทักษิณาวรรต สมมติเป็นขนของลิงหรือหมี ตัวยักษ์จะต้องมีห้อยก้นเป็นผ้าปักผืนสั้น ๆ ปิดชายกระเบน
     เรื่องที่แสดงโขนของไทยเราแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว
     วิธีการแสดงโขนมีหลายชนิด แตกต่างกันด้วยวิธีการแสดง ดังจะอธิบายไปตามลำดับ ดังนี้
โขนกลางแปลง

     โขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงกับพื้นดินที่เป็นลานกว้างใหญ่ สมมติพื้นที่นั้นเป็นกรุงลงกาด้านหนึ่ง เป็นพลับพลาพระรามด้านหนึ่ง ด้านกรุงลงกาสร้างเป็นปราสาทราชวัง มีกำแพงจำลองด้วยไม้และกระดาษ ด้านพลับพลาก็สร้างพลับพลามีรั้วเป็นค่ายจำลองเช่นเดียวกัน ปลูกร้านสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ด้านละวง คนเจรจามีด้านละ 2 คนเป็นอย่างน้อย วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบกับการแสดงด้านที่วงประจำอยู่ แต่ถ้าเป็นส่วนกลาง เช่น การรบกันกลางสนามหรืออื่น ๆ ก็แล้วแต่วงไหนอยู่ใกล้ก็เป็นผู้บรรเลง โขนกลางแปลงมีแต่พากย์กับเจรจาเท่านั้น
โขนนั่งราว
     โขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรง เลียนแบบโขนกลางแปลง คือ ปลูกโรงสูงพอตาคนยืนดู ปูกระดานพื้นเป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า ฉากแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางยาวประมาณ 10 เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นป่าเขา ส่วนนอกด้านขวา (ของโรง) ยาวประมาณ 3 เมตร ทำภาพนูนเขียนสีเป็นรูปพลับพลาและรั้ว สมมติเป็นพลับพลาพระราม ส่วนนอกด้านซ้ายยาวประมาณ 3 เมตร ทำภาพนูนเขียนสีเป็นปราสาทราชวังมีกำแพง สมมติเป็นกรุงลงกา มีประตูเข้าออก 2 ประตู อยู่คั่นระหว่างฉากส่วนกลางกับส่วนนอกข้างละประตู ตรงหน้าฉากออกมา ห่างฉากประมาณ 1.5 เมตร ทำราวไม้กระบอก มีเสารับสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวเสมอขอบประตูข้างหนึ่งมาถึงขอบประตูอีกข้างหนึ่ง หัวท้ายของโรงทั้ง 2 ข้าง ปลูกร้านให้สูงกว่าพื้นโรงประมาณ 1 เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ข้างละวง
     วิธีแสดง ราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากนั้นเป็นที่สำหรับนั่ง วิธีนั่งถ้าหันหน้าไปทางขวาหรือซ้ายก็เอาเท้าข้างนั้นพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ฝ่ายพระรามจะนั่งค่อนมาข้างขวา พระราม (ตัวประธานฝ่ายมนุษย์) นั่งสุดราวด้านขวา หันหน้าไปทางซ้าย บริวารทั้งหมดนั่งบนราวตามลำดับเรียงไป หันหน้ามาทางขวา และฝ่ายลงกา (ฝ่ายยักษ์) ตัวประธานนั่งสุดราวด้านซ้าย หันหน้ามาทางขวา บริวารทั้งหมดนั่งหันหน้ามาทางซ้าย ส่วนการแสดงในตอนที่ไม่นั่ง ก็แสดงได้ทั่วพื้นโรง ดำเนินเรื่องด้วยพากย์กับเจรจาเท่านั้น เหมือนโขนกลางแปลง
     ท่ารำ เป็นท่ารำที่ครบถ้วนตามแบบแผนศิลปะการรำ ทำบทตามถ้อยคำและรำหน้าพาทย์ตามเพลงปี่พาทย์
     วิธีบรรเลงปี่พาทย์ ทั้ง 2 วงจะผลัดกันบรรเลงวงละเพลง ตั้งแต่โหมโรงเป็นต้นไปจนจบการแสดง
โขนโรงใน
     โขนโรงใน คือโขนผสมกับละครใน สถานที่แสดงเป็นโรงอย่างโรงละครใน มีฉากเป็นม่านผืนเดียว มีประตูออก 2 ข้าง แต่เตียงสำหรับนั่งมี 2 เตียง ตั้งขวางใกล้กับประตูข้างละเตียง มีปี่พาทย์ 2 วง อาจตั้งตรงหลังเตียงออกไป หรือกระเถิบมาทางโรงนิดหน่อยแล้วแต่สถานที่จะอำนวย  ดำเนินเรื่องด้วยบทพากย์ บทเจรจา และบทร้อง มีทั้งคนพากย์ คนเจรจา ต้นเสียง ลูกคู่ และคนบอกบท (ร้อง)
     วิธีแสดง เริ่มต้นอย่างละครใน คือตัวเอกออกนั่งเตียง แล้วร้องหรือพากย์ดำเนินเรื่อง การแสดงต่อไปก็แล้วแต่ว่าตอนใดจะแสดงแบบโขนตอนใด จะแสดงแบบละคร เช่น ปี่พาทย์ท่าเพลงวา พลลิงออกมานั่งตามที่พระรามพระลักษณมณ์ ออกมานั่งเตียง ต้นเสียงร้องเพลงช้าปี่ใน ส่งเพลง 1 เพลง ร้องร่าย และปี่พาทย์บรรเลงเพลงเสมอ ท้ายเพลงเสมอตัวโขนเข้าโรงหมด ปี่พาทย์ทำเพลงกราวนอกโขนลิงออก แล้วสิบแปดมงกุฎและพญาวานรออก พระลักษมณ์ พระรามออก รำกราวนอก เสร็จแล้ว พากย์ชมรถ และปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด ฯลฯ
     อุปกรณ์สำคัญในการแสดงโขน ซึ่งต่างจากการแสดงละครก็คือราชรถมีตัวม้าหรือราชสีห์เทียม และกลด มีผู้ถือกางให้ตัวเอก
     เข้าใจว่าการที่โขนในสมัยหลัง ๆ มาจนปัจจุบัน ตัวพระและตัวเทวดาไม่สวมหัวโขนคงจะเริ่มมาตั้งแต่โขนมาร่วมผสมกับละครในเป็นโขนโรงในนี้เอง
โขนหน้าจอ
     โขนหน้าจอ วิธีการแสดง ทุก ๆ อย่างเหมือนโขนโรงในทุกประการ ผิดกันแต่สถานที่แสดงเท่านั้น เป็นโรงที่มีลักษณะต่างกัน
     โรงของโขนหน้าจอ ก็คือโรงหนังใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงให้สะดวกแก่การแสดงโขนเท่านั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากโรงหนังใหญ่ก็คือ มีประตูเข้าออก 2 ประตู ใต้จอตอนกลางมีมู่ลี่หรือลูกกรงถี่ ๆ เพื่อให้คนร้องซึ่งนั่งอยู่ภายในมองเห็นตัวโขน จอตอนนอกประตูทั้ง 2 ข้างเขียนภาพ ข้างขวาเขียนภาพพลับพลาพระราม ข้างซ้ายเขียนภาพปราสาทราชวัง สมมติเป็นกรุงลงกา ตั้งเตียงห่างจากประตูออกมาพอสมควร 2 เตียง ข้างละเตียง วงปี่พาทย์สมัยก่อนตั้งด้านหน้าของที่แสดง สมัยปัจจุบันยกไปตั้งหลังจอตรงหลังคนร้อง
     โขนทุกประเภท ตั้งแต่โขนกลางแปลงมาจนถึงโขนหน้าจอ มีเครื่องดนตรีพิเศษอย่างหนึ่งประกอบ คือ “โกร่ง” เป็นไม้ไผ่ลำโตยาวประมาณ 3-4 เมตร มีเท้ารองหัวท้ายสูงประมาณ 8 เซนติเมตร วางกับพื้น ผู้ที่นั่งเรียงกันประมาณ 4-5 คน ถือไม้กรับทั้งสองมือตีตามจังหวะ ใช้เฉพาะเพลงที่ต้องการความครึกครื้น เช่น เพลงกราวนอก กราวใน เชิด ตั้งอยู่หลังฉากหรือจอ พวกแสดงโขนที่มิได้แสดงเป็นผู้ตี
โขนฉาก
     โขนฉาก มีลักษณะดังนี้ คือ
     โขนฉากแสดงบนเวที เปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์
     วิธีการแสดงเหมือนโขนโรงในทุกประการ นอกจากแบ่งเนื้อเรื่องให้เป็นตอนเข้ากับฉากเท่านั้น ถ้าสถานที่แสดงมีที่แสดงที่หน้าม่านได้ เวลาปิดม่านก็อาจมีการแสดงหน้าม่าน เพื่อเชื่อมเนื้อเรื่องให้ติดต่อกันก็ได้



 ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง หมู่ 6 และ หมู่ 9 ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
    ปราสาทเมืองต่ำเป็นประสาทอิฐ กำแพงแก้วและซุ้มประตูทำด้วย หินทราย ส่วนกำแพงด้านนอกทำด้วยศิลาแลง เนินปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสระน้ำล้อมรอบ ความเด่นของปราสาทเมืองต่ำ คือ มีการจำหลักส่วนต่าง ๆ ด้วยลวดลายอันประณีตสวยงาม อยู่ใกล้กับโบราณสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น สระน้ำขนาดใหญ่ที่คนขุดขึ้นในสมัยสร้างปราสาท ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1090 เมตร ขอบสระกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงพื้นดินเดิม สระนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปี (บริษัทสุรามหาราช จำกัด 2540:229-231)
    ที่เรียกชื่อว่า ปราสาทเมืองต่ำ เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่พื้นที่ราบ เมื่อเทียบกับปราสาทเขาพนมรุ้งซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนาสถาน ศิลปะขอมแบบบาปวน อายุประมาณ พ.ศ. 1551-1630 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (กรมศิลปากร 2536:127-130) ลักษณะของปราสาทมีองค์ประกอบ ดังนี้
    1. ปรางก่ออิฐ 5 องค์ เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียว แผนผังของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรีย


แถวหน้า
  • ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางเยื้องมาข้างหน้าเล็กน้อย ระหว่างปรางค์บริวารทั้งสองมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์บริวารอีก 4 องค์ ทับหลังเป็นหินทราย จำหลักภาพเทวะนั่งยกเข่าซ้ายอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียติมุข ส่วนบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งประนมมือเป็นแถว จำนวน 7 ตน
  • ปรางค์ด้านทิศเหนือ มีขนาด 4.40X4.40 เมตร มีประตูทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอิศวรทรงโคนนทิ พระหัตถ์ซ้ายอุ้มนางปราพตี พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูลโคนนทีนี้ยืนอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งคายท่อนพวงมาลัย ขอบบนสุดจำหลักภาพฤาษีนั่งรัดเข่าประนมมือ จำนวน 10 ตน
  • ปรางค์ด้านทิศใต้ มีขนาด 4.40X4.40 เมตร มีประตูทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทราย จำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่าขวาอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ขอบบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งจำนวน 9 ตน
    แถวหลัง
  • ปรางค์ด้านทิศเหนือ มีขนาด 4X4 เมตร ประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ
  • ปรางค์ด้านทิศใต้ มีขนาด 4X4 เมตร ประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอรุณนั่งชันเข่าในซุ้มเหนือแท่นซึ่งมีหงส์ 3 ตัว ยืนแบกอยู่เหนือเศียรเกียรติมุขที่กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองด้าน
   2. ระเบียงคดและซุ้มประตู ก่อด้วยอิฐ มีขนาด ประมาณ 38.60X38.60 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทราย ระเบียงคดนี้ลักษณะเป็นห้องแบบระเบียงคดทั่วไป หลังคาเป็นหินทรายทำเป็นรูปประทุนเรือ มีประตู 3 ด้านพื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลักมีขนาดประมาณ 2.10X1.15 เมตร ด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง ด้านนอกติดลูกกรงลูกมะหวด
    ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านนอกจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่า อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เหนือขึ้นไปเป็นนาค 5 เศียรครอบ 2 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง ทับหลังหินทรายจำหลักภาพเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง
    เสากรอบประตูกลางจำหลักภาพสิงห์ยืนเท้าสะเอวจับพุ่มกนกและโคนเสาเป็นภาพฤาษีนั่งยอง ๆ ประนมมือ
    ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านในจำหลักภาพสิงห์ท่ามกลาง ลิง และช้าง ประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ทับหลังนปราบ
จำหลักภาพพระกฤษณะตอนาคกาลีย





3. สระน้ำ ตั้งอยู่ที่ลานขนาด 10X10 เมตร รอบนอกระเบียบคดทั้ง 4 ด้าน สระน้ำทั้ง 4 สระนี้มีขนาดประมาณ 20X40 เมตร กรุพื้นสระด้วยหินทรายซ้อนเป็นชั้น ๆ ปากผายก้นสอบ ที่มุมขอบสระทุกมุมทำเป็นตัวพญานาคชูคอ สองข้างบาทวิถี ระหว่างซุ้มประตูระเบียงคดกับซุ้มประตูกำแพงทุกด้านมีบันไดลงสู่สระน้ำอยู่ทั้งสองข้างทาง เหนือบันไดทำเป็นเสาซุ้มประตูทั้งสองข้างปัจจุบันล้มลงทั้งหมด
    4. กำแพงแก้วและซุ้มประตู ตั้งอยู่รอบนอกห่างจากสระน้ำประมาณ 10 เมตร กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 140X114.50 เมตร บนสันกำแพงเซาะเป็นรางตื้น ๆ สำหรับวางท่อหินสี่เหลี่ยมสี่ด้านทำเป็นซุ้มประตูจตุรมุข มีประตูด้านละ 3 ช่องมุงหลังคาด้วยหินทรายโค้งเป็นรูปประทุนเรือ ทับหลังหินทรายเหนือประตูของซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก จำหลักภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยแสดงว่ายังตกแต่งลวดลายไม่เสร็จ ระหว่างประตูทั้ง 3 ช่อง เป็นหน้าต่างหลอกติดลูกกรงลูกมะหวดเลียบกำแพงศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยก้อนศิลาแลง ขนาดกว้าง 1 เมตรรอบทุกด้าน
   ทะเลเมืองต่ำ
    ทะเลเมืองต่ำ หรือสระบารายที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาท อยู่ห่างจากตัวปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภค การชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้น ท่าน้ำทั้ง 2 ฟากนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ (กรมศิลปากร 2540:70)
    บางรายแห่งนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากเขาปลายนัด (ไปรนัด) และเขาพนมรุ้ง ตรงบริเวณที่เรียกว่า สะพานขอม และระบายน้ำออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้





 ความโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ นอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้แล้ว ยังได้ชมหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายเป็นกลุ่มอยู่กับปราสาทนี้ด้วย ชาวบ้านอยู่ที่นี่มานานจนมีความรู้สึกว่าปราสาทคือส่วนหนึ่งของชุมชน การดำเนินชีวิตของชาวบ้านโคกเมืองสัมพันธ์กับความงามของปราสาท กลายเป็นความสงบร่มเย็นน่าสนใจไม่น้อย
    การเดินทางไปปราสาทเมืองต่ำ ไปได้หลายทาง ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้ง เข้าไปปราสาทเมืองต่ำระยะทางแยกเข้าไปประมาณ 83 กิโลเมตร หรือจะไปเส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย เข้าประสาทเมืองต่ำ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ สายประโคนชัย-บ้านกรวด ซึ่งเป็นเส้นแยกสายตะโก-พนมรุ้ง-ละหานทรายก็ได้